เปิดนิทรรศการ คน เงิน ผี สิ่งเหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์และเทคโนโลยี

 จิม ทอมป์สัน เรียนเชิญร่วมงานแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ  People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor)

นิทรรศการสื่อผสมที่นำเสนอเรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นและพลวัตทางสังคมจาก 3 กลุ่มศิลปินอาเซียน   กลุ่มศิลปินอาเซียน มุ่งสำรวจว่าการเดินทางกับการอพยพของประชากรและอุตสาหกรรมทั้งหลาย แนวคิดทฤษฎีกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ สุนทรียะกับวิทยาการ และตัวศิลปินเอง มีส่วนสร้างโลกของเราขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในและนอกเหนือภูมิภาค  ที่เราเรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภาวะดังกล่าวปรากฏชัดในการสร้างผลงานของศิลปินผู้แสดงงานครั้งนี้

นิทรรศการนี้จึงเกี่ยวกับกระบวนการของการเคลื่อนย้ายด้วยตัว นิทรรศการเองเฉก  เช่นบานพับที่พลิกแพลงได้หลายทิศทางโดยขึ้นกับตัวงานศิลปะแต่ละชิ้น มากกว่าตัวคำถามภายในชิ้นงานที่เปล่งเสียงได้ทั้งที่นี่และทุกหนแห่ง ผลงานจัดแสดงทั้งหมดของล้วนสร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลความคุ้นชิน กล่าวคือไม่ใช่เมืองอันเป็น บ้าน ของศิลปิน และต่างได้รับอิทธิพลจากความหมายจำเพาะของพื้นที่ทั้งในแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์กับโลกร่วมสมัย ผลงานในนิทรรศการคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายทั้งในฐานะประสบการณ์และวัตถุแห่งการสืบค้นวิจัยทางศิลปะ ศิลปินแต่ละคนเลือกคำถามและประเด็นซึ่งเชื่อมโยงกับการไร้ถิ่นฐานของผู้คน ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงในเมืองหลวงของดินแดนอื่น และผลกระทบสืบเนื่องอันหลอกหลอนของสิ่งเหล่านั้น ในฐานะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ร่วมสมัย พื้นที่ในความสนใจเหล่านี้  จึงเป็นกระจกส่องสะท้อน  ทั้งประสบการณ์ส่วนตัวในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน
ของศิลปิน  และกระบวนการทำงานของพวกเขา


People, Money, Ghosts ผลงานเหล่านี้ ผ่านการคัดสรรโดยภัณฑารักษ์ชาวออสเตรเลีย อาศัยอยู่พนมเปญ โรเจอร์ เนลสันพูดคุยเกี่ยวกับงานนิทรรศการ โดย  คุณกฤติยา กาวีวงศ์ – ผู้อำนวยการ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน มิสเตอร์โรเจอร์ เนลสัน ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ

ศิลปิน : ไขว สัมนาง, เอมี เลียน &เอ็นโซ คามาโช, เหงียน ธี ธันห์ ไม ได้นำเสนอเรื่องราว การอพยพย้ายถิ่นและพลวัตทางสังคม และการอพยพย้ายถิ่นของประชากรและอุตสาหกรรมต่างๆที่เป็นดั่งฟันเฟืองสำคัญในการสร้างและขับเคลื่อนพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมถึงศิลปะร่วมสมัยที่สามารถแพร่ขยายแบบไร้พรมแดนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอด้วยศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งแฝงไว้ด้วยแนวคิด ทฤษฎี ความเชื่อทางจิตวิญญาณ และผลกระทบอันสืบเนื่อง จากการโยกย้ายในลักษณะเหนือจริง (Surreal) อาทิ


ศิลปะแบบจัดวาง  (Installation Art)
ประติมากรรมวิดีโอ  (Video Sculpture)
ศิลปะคอลลาจ  (Collage Art)

ไขว สัมนาง ศิลปินชาวกัมพูชา เอมี เลียน และ เอ็นโซ คามาโช ศิลปินคู่ ชาวฟิลิปปินส์ และ เหงียน ธี ธันห์ ไม ศิลปินชาวเวียดนาม จัดนิทรรศการPeople, Money, Ghosts (Movement as Metaphor)   ศิลปะสื่อผสม ภายใต้คอน
เซปท์ คน เงิน ผี เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวขอประวัติศาสตร์และเทคโนโลยี

ศิลปินได้นำเสนอผลงานในรูปแบบความเป็นท้องถิ่นพร้อมกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เช่น ศิลปินชาวฟิลิปปินส์นำเสนอผลงานในรูปแบบ “ผีกระสือ” เป็นรูปแบบประติมากรรมวิดีโอ เพื่อสะท้อนถึงตัวตนที่เคลื่อนย้ายอพยพมากกว่าสงบนิ่งที่บ้าน และผลงานเหล่านี้ ผ่านการคัดสรรโดยภัณฑารักษ์ชาวออสเตรเลีย อาศัยอยู่พนมเปญ โรเจอร์ เนลสัน เริ่มจัดแสดง

นิทรรศการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2560   ตั้งแต่ 9.00 – 20.00 น. ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน  ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ โปรเจ็คต์ทั้งสองของ ไขวสัมนาง (KhvaySamnang)มุ่งสำรวจการเคลื่อนย้ายในบริบทของประเทศกัมพูชาที่ขยายใหญ่ขึ้น– Yantra Man (2015) เป็นการสำรวจประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมในวงกว้างเกี่ยวกับทหารกัมพูชาผู้ถูกส่งไปร่วมรบให้กองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตัวงานประกอบด้วยการจัดวางประติมากรรมเหล็ก โดยโมทีฟที่ปรากฏในชิ้นงานคือพระเครื่องที่เป็นเครื่องรางและผ้ายันต์แบบเขมร ตัวงานมุ่งพิเคราะห์การสะท้อนไปมาระหว่างประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของเหล่าทหาร และประสบการณ์ร่วมสมัยของคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน –Rubber Man (2014) ประกอบด้วยวิดีโอหนึ่งจอที่บันทึกการแสดงของตัวศิลปิน และจัดวางบนประติมากรรมไม้ที่นำเสนอบนดินร่วนแดง ชนิดเดียวกับที่พบได้ในจังหวัดรัตนคีรีทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา งานชิ้นนี้สำรวจผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และ
จิตวิญญาณ ของการเพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ดังกล่าว


ศิลปินคู่ เอมี เลียน &เอ็นโซ คามาโช (Amy Lien &Enzo Camacho) ร่วมกันเสนอผลงานชุดใหม่ด้วยรูปแบบที่เธอและเขาเรียกว่า ‘ประติมากรรมวิดีโอ’ (video sculpture)– งานศิลปะชุดนี้สำรวจรูปลักษณ์และตัวตนของสิ่งคล้ายผีที่มีผู้พบเจอตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งมีชีวิตในตำนานที่แยกร่างโดยทิ้งส่วนขาไว้ในป่า (ทั้งในความหมายตรงตัวและโดยเปรียบเทียบ) ในขณะที่ส่วนหัวกับเครื่องในบินผ่านเมืองสร้างความตื่นกลัวให้ชาวบ้าน ในไทยเรียกสิ่งมีชีวิตนี้ว่ากระสือ (krasue) ในขณะที่กัมพูชาใช้ชื่อ เอิบ (arb) จุดเริ่มต้นความสนใจของศิลปินที่มีต่อร่างกลายพันธุ์ชนิดนี้คือ
มานานังกาล (manananggal) ของฟิลิปปินส์ และศิลปินเลือกนำเสนอ
กระสือ/เอิบ/มานานังกาล ในรูปสัญลักษณ์อย่างบทกวีที่สะท้อนสัมผัสของตัวตนที่ผันแปรไม่หยุดนิ่ง เป็นสัมผัสของตัวตนที่ไร้ศูนย์กลางตายตัว ตัวตนที่เคลื่อนย้ายอพยพมากกว่าสงบนิ่งที่ ‘บ้าน’ หรือสถานที่จำเพาะ และแข็งขืนต่อการจำแนกประเภทด้วยตรรกะและเหตุผล ศิลปินเสนอว่าสิ่งมีชีวิตนี้ถือเป็น ‘สัตว์ประหลาดโอเพ่นซอร์ส’ (open-source monster) โดยหยิบยืมคำศัพท์ที่สื่อความถึงซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต และ/หรือพัฒนาต่อโดยผู้ใช้ มาช่วยอธิบายคุณลักษณะ–ชิ้นงานทั้งสามที่แยกส่วนชัดเจนทว่าสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (และโต้ตอบระหว่างกันอย่างเงียบเชียบ) สร้างขึ้นใหม่เพื่อนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ


Day by Day (2014-7) โดยเหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen ThiThanh Mai) สำรวจประสบการณ์ผู้อพยพของชุมชนชาวเวียดนามไร้รัฐที่ใช้ชีวิตในหมู่บ้านลอยน้ำในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนดังกล่าวต้องประสบความยากแค้นนานหลายทศวรรษ ทั้งถูกกวาดล้างระหว่างช่วงสงครามอเมริกันในเวียดนามและภายใต้การปกครองของเขมรแดงในกัมพูชา และถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องทั้งการศึกษาและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไม่สามารถเข้าถึงเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมายในแต่ละชาติ โปรเจ็คต์นี้ประกอบด้วยวิดีโอความยาวหนึ่งชั่วโมง จัดวางร่วมกับ ‘บัตรประชาชน’ ปลอม และชุดคอลลาจภาพถ่ายดิจิตอลติดตั้งในกระท่อมทางมะพร้าวหลังเล็กที่สร้างขึ้นในพื้นที่ของแกลเลอรี   ผลงานทุกชิ้นที่จัดแสดงคราวนี้ล้วนมีศักยภาพในการสะท้อนเข้าหาสภาพแวดล้อมร่วมสมัย และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จมอยู่ใต้พื้นผิว ศิลปินในไทยจำนวนมากเองก็รับเอาวิถีปฏิบัติเยี่ยงผู้อพยพหรือชนเผ่าพเนจรไว้กับตัว ซึ่งโดยปริยายพวกเขาได้สำแดงปลดเปลื้องให้เห็นความรู้สึกของประสบการณ์ในระดับภูมิภาค (pan-regional) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซุกซ่อนไว้ มากกว่าตัวตนที่มีเขตแดนจำกัดของชาติที่ตนเองสังกัดอยู่


เกี่ยวกับศิลปินและภัณฑารักษ์
ไขว สัมนาง (เกิดปี 2525, พำนักในพนมเปญ) คือหนึ่งในศิลปินสาขาทัศนศิลป์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศกัมพูชา เขาทำงานทั้งด้านเพอร์ฟอร์มานซ์, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ศิลปะจัดวาง และยังสนอกสนใจสำรวจประเด็นชวนถกเถียงทั้งด้านการเมือง สังคม กับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ในกัมพูชากับที่อื่นๆ “ถ้าพูดถึงไม่ได้ แล้วเราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไร?”


เอมี เลียน (เกิดปี 2530, พำนักในมะนิลาและนิวยอร์ก) และ เอ็นโซ คามาโช (เกิดปี 2528, พำนักในมะนิลาและเบอร์ลิน) คือคู่ศิลปินที่ทำงานร่วมกันเป็นการเฉพาะตั้งแต่ปี 2552 – ผลงานศิลปะที่พวกเขาให้คำอธิบายด้วยน้ำเสียงจิกกัดว่า “ไม่ใคร่เจาะจงสื่อที่ใช้” มักใช้วิดีโอกับการจัดวางที่เลียนแบบสุนทรียะออนไลน์และสภาพแวดล้อมยามวิกาล ด้วยความสนใจของพวกเขาคือสภาวะกึ่งกลาง (liminal circumstance)เช่น ตัวตนที่ยึดโยงลักษณะระหว่างเพศ กิจกรรมที่คาบเกี่ยวระหว่างสันทนาการกับการใช้แรงงาน หรือผลงานที่อยู่ระหว่างความจริงจังกับความเสียดเย้ย


เหงียน ธี ธันห์ ไม (เกิดปี 2526, พำนักในเว้) อธิบายไว้ว่า “แนวความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรน กับความสนใจต่อความรู้สึกที่แสดงออกได้ยากและถูกกดทับไว้ คือแกนกลางในการสร้างงานศิลปะของฉัน” เธอทำงานโดยใช้สื่อหลากหลาย สำรวจอุปสรรคที่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนต้องเผชิญ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและลงพื้นที่วิจัยระยะยาว ในระยะแรกเริ่มเธอได้รับความสนใจจากผลงานที่เกี่ยวพันกับร่างกายของผู้หญิงและประสบการณ์ที่มีเรื่องเพศเป็นพื้นฐาน แต่ผลงานต่อเนื่องที่กำลังทำอยู่อันว่าด้วยชุมชนชาวประมงไร้รัฐในเวียดนามและกัมพูชา นำเสนอประเด็นซ้อนทับระหว่างเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองและประวัติศาสตร์ของสงครามอเมริกันในคาบสมุทรอินโดจีน


โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) ทำงานในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลป์และภัณฑารักษ์อิสระผู้พำนักในกรุงพนมเปญ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกที่ University of Melbourneปี 2560ผลงานวิจัยของเขาศึกษาคำถามที่มีต่อความเป็นสมัยใหม่และสภาวะร่วมสมัยในงานศิลปะ โดยใช้ประเทศกัมพูชาและภูมิภาคโดยรอบเป็นกรณีศึกษา โรเจอร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการร่วมของวารสารวิชาการเล่มใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia ซึ่งตีพิมพ์โดย NUS Press ของ National University of Singapore เขาเขียนบทความวิชาการให้วารสารหลายเล่ม เช่น Stedelijk Studies นิตยสารศิลปะเนื้อหาเข้มข้น เช่น Art Asia Pacific รวมถึงหนังสือและสูจิบัตินิทรรศการศิลปะจำนวนมาก โรเจอร์ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์นิทรรศการและโปรเจ็คต์อื่นๆ ทั้งในออสเตรเลีย กัมพูชา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม


งานเปิดตัวนิทรรศการอย่างเป็นทางการ
People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor) นิทรรศการกลุ่มแสดงผลงานศิลปะโดย: ไขว สัมนาง (พนมเปญ) / เอมี เลียน & เอ็นโซ คามาโช (มะนิลา, เบอร์ลิน และนิวยอร์ก) / เหงียน ธี ธันห์ ไม (เว้)


คัดสรรโดย โรเจอร์ เนลสัน(พนมเปญ)
ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน, กรุงเทพมหานคร
7 มีนาคม ถึง 18 มิถุนายน 2560, เปิดให้เข้าชมทุกวัน 9.00 – 20.00 น.
เสวนากับศิลปินและภัณฑารักษ์ ในวันอังคารที่ 7 มีนาคม เวลา 16.30 น.
พิธีเปิดนิทรรศการวันที่ 7 มีนาคม เวลา 18.30 น.

 เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น.
เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
หมายเลขโทรศัพท์: 02-612-6741
อีเมล์: artcenter@jimthompsonhouse.com
เฟซบุ๊ก: the Jim Thompson Art Center
เว็บไซต์: www.jimthompsonartcenter.org